เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 บริษัทเอกชนจัดกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าขยะขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนจำนวน 400 คน เข้าร่วม โดยมีบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมนำเสนอผลกระทบและมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อวิตกกังวลและตอบคำถาม
บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่าขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในอบต.โชคชัย อบต.กระโทก และเทศบาลตำบล (ทต.) โชคชัย มีปริมาณ 40 ตันต่อวัน ได้นำไปเทกองกลางแจ้งบนพื้นที่ 27 ไร่ ที่บ้านโพธิ์ทอง หมู่ 12 ต.โชคชัย เป็นเวลากว่า 30 ปี จึงมีปริมาณขยะสะสมกว่า 2 แสนตันที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้องและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีคำสั่งให้แก้ไขปัญหาโดยการนำขยะมูลฝอยมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน และได้มีการคัดเลือกบริษัทเอกชนเพื่อให้เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรแล้ว
โครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1,823 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่บ้านสระประทุมใหม่พัฒนา หมู่ 14 ต.โชคชัย ห่างจากลำน้ำมูลประมาณ 1 กิโลเมตร พื้นที่ 109 ไร่ 94 ตารางวา ปริมาณขยะที่จะนำมาเผาจำนวน 380 ตันต่อวัน จะมาจาก 34 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขต อ.โชคชัย อ.หนองบุญมาก อ.ครบุรี อ.เสิงสาง และ อ.วังน้ำเขียว เทคโนโลยีที่ใช้คือเตาเผาแบบตะกรับเคลื่อนที่แบบย้อนกลับซึ่งมี ความสามารถเผาขยะได้ประมาณ 500 ตันต่อวัน ให้กำลังไฟฟ้า 9.90 เมกกะวัตต์ มีระบบบำบัดมลพิษที่ได้มาตรฐาน ควบคุมการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมจนถึงขั้นตอนสุดท้ายเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นระยะเวลา 25 ปี
อย่างไรก็ตาม จากช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประชาชนผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นห่วงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต และอ้างว่าขั้นตอนประชาพิจารณ์ที่ผ่านมามีความไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่ได้แจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ อีกทั้งยังมีตัวแทนภาคประชาชนรายหนึ่งกังวลเรื่องการขนส่งขยะในพื้นที่อาจสร้างความเสียหายให้กับผิวถนนและมลภาวะสิ่งแวดล้อมตลอดเส้นทาง
ส.ส เขต 10 จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต ทั้งด้านมลพิษอากาศจากเตาเผา และการปนเปื้อของสารมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ จึงขอฝากประเด็นนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไปพิจารณาด้วย
Comments