top of page
Punisa K.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับทุกหน่วยงาน เร่งลดก๊าซเรือนกระจก ตามกรอบปี 2573


คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) จัดการประชุมครั้งที่ 1/2567 วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมี พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021 – 2030) โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอร่างแผนปฏิบัติการฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาตามขั้นตอนการนำเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนภ. ยังได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้

  1. ร่างรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการรายสาขา ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 รวม 60.33 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) จากเป้าหมายประมาณ 184.8 MtCO2eq ในปี พ.ศ. 2573 (กรณีดำเนินการเอง) โดยมอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) นำไปประกอบการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report: BTR) ฉบับที่ 1

  2. หลักการของร่างบันทึกความตกลง (Letter of Agreement) และเอกสารโครงการ (Project Document) ของโครงการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (BTR1) ซึ่งจะต้องส่งให้สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ร่วมกับรายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 2 (NC5/BTR2) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

  3. หลักการของร่างบันทึกความตกลงโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน

  4. ร่างกรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

  5. ร่างขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมอบหมายให้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเผยแพร่เอกสารดังกล่าวต่อสาธารณชน [1]

 

ในช่วงแรก แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 - 2030) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ถูกจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่ง กนภ. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินงานฯ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กนภ. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 รายสาขาของหน่วยงาน ได้แก่ (1) สาขาพลังงาน มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (2) สาขาคมนาคมขนส่ง  มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (3) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม มอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และ  (4) สาขาการจัดการของเสียชุมชน มอบหมายกรมควบคุมมลพิษ ทส.


หลังจากนั้น สผ. ได้เสนอ ร่างแผนปฏิบัติการทั้ง 2 ฉบับ แก่ สศช. เพื่อพิจารณา และได้ผนวกรวมร่างทั้ง 2 ฉบับ และปรับชื่อเป็น ร่างแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 รายสาขา ตามมติของอนุกรรมการด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ สศช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563


ประเทศไทยได้จัดส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (Thailand’s 2nd Updated NDC) ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากเดิมร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 30 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573 และจากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 40 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ


สส. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 รายสาขา ฉบับปรับปรุง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 [2]

 

อ้างอิง:

[2] (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 (ฉบับรับฟังความคิดเห็น 10-15 พ.ย. 2566), https://www.dcce.go.th/news/view.aspx?p=17457


0 views
bottom of page