จากกรณีที่พบการลักลอบเก็บกากของเสียและสารเคมีอันตรายกว่า 4,000 ตัน ในโกดัง ที่ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้เข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 และขยายผลนำไปสู่การเข้าตรวจยึดโกดังและกองวัสดุต้องสงสัยในพื้นที่อื่นๆ โดยรอบอีกหลายจุด
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พบโกดังต้องสงสัยอีก 2 แห่ง ซึ่งเป็นของบริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยเจ้าหน้าที่พบพบของเหลว เช่น กากตะกอนน้ำมัน กากสี สารทำละลาย บรรจุในถังขนาด 200 ลิตร และพบกองขยะพลาสติกจำนวนมากถูกทิ้งไว้บริเวณลานนอกอาคาร กรมโรงงานจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราว และเร่งนำของเสียอันตรายที่ครอบครองไว้ไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2566
สำหรับการลักลอบเก็บกากของเสียและสารเคมีอันตรายที่อำเภอภาชี กรมโรงงานได้เร่งแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยได้ประสานขอความร่วมมือไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโรงงานในอำเภอภาชี เพื่อจัดการของเสียดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน โดยบรรจุน้ำเสียปนเปื้อนใส่ถัง IBC (Intermediate Bulk Container) รวมทั้งรวบรวมเศษพลาสติก และวัสดุปนเปื้อนอื่นๆ ใส่ถุงบิ๊กแบ็ก เก็บไว้ในโกดังเพื่อรอนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียกเรื่องลักลอบทิ้งในพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้เข้าตรวจสอบที่ดินเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอภาชี ห่างจากจุดเดิมที่พบเพียง 3 กิโลเมตร พบบ่อดินน่าสงสัย จำนวน 6 บ่อ ที่มีของเหลวข้นสีดำมีกลิ่นเหม็นสารเคมี และถุงบรรจุก้อนของแข็ง และผงสีดำปนเทาและสีน้ำตาลจำนวนมาก ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกันกับกรณีลักลอบทิ้งสารเคมีอันตรายที่อำเภอภาชี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องสอบสวนหาความเกี่ยวข้องต่อไป
หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียสารเคมีในอำเภอภาชีต่อไป โดยจะนำกรณีของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี มาเป็นต้นแบบในการจัดการ
ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ
สามารถเข้าถึงได้จากลิ้งก์:
Opmerkingen