top of page
Info-EXA

กกพ. ประกาศโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผ่านแล้ว 175 โครงการ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์



จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) คาดการรับซื้อไฟฟ้ารอบแรก 5,203 เมกะวัตต์ จาก “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “โครงการ”) และเตรียมเปิดรอบ 2 ต่ออีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 นี้ [1]


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า วันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักงานกกพ. ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการฯ (รอบแรก) รวมทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 5,203 เมกะวัตต์ จากผู้มีสิทธิ์ผ่านเข้าพิจารณาทั้งสิ้น 386 ราย โดยแบ่งเป็นประเภท พลังงานลม จำนวน 22 ราย รวม 1,490.20 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มีเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย รวม 994.06 เมกะวัตต์ ,พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 129 ราย รวม 2,368 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ ของเสีย) ไม่มีผู้ผ่านการพิจารณา


สำหรับโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 มีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 13 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 100 เมกะวัตต์ จากการพิจารณาทั้งสิ้น 18 ราย


โดยการไฟฟ้าฯ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอบรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 ต่อไป [2]


เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ทางกกพ. คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ 2 ปริมาณ 3,668.5 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 นี้ ส่วนอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) สำหรับโครงการฯ จะประกาศได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2566 และโครงการฯ จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป [1]



อ้างอิง:

Comments


bottom of page